วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

แปลความหมายวันเฉลิมพระชนมพรรษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงประสูติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ทรงเป็นพระราชโอรสของเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์และหม่อมศรีสังวาลย์ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีและทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย พระองค์ทรงได้รับการเทิดทูนว่าเป็นศูนย์รวมใจของชาวไทยทั่วทั้งประเทศ พระองค์ไม่เพียงแต่เป็นที่เคารพรักของพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น หากยังเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วโลกอีกด้วย
ในทุก ๆ ที่ที่พระองค์เสด็จไป พสกนิกรต่างพากันมาเข้าเฝ้าชื่นชมพระบารมีอย่างล้นหลาม จากการปฏิบัติภารกิจของพระองค์โดยทุ่มเทพระราชหฤทัยไปยังทวยราษฎร์นี้นี่เองที่ทำให้พระองค์กลายเป็นศูนย์รวมใจของชนในชาติให้มีความสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกันและกัน
ความสนพระราชหฤทัยของพระองค์ส่วนใหญ่ก็เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พสกนิกร ทั้งนี้เห็นได้จากความวิริยะอุตสาหะของพระองค์โดยไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยพระวรกาย อันเนื่องมาจากการเสด็จเยือนพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร พระราชประสงค์ของการเสด็จเยือนก็เพื่อที่จะได้ทรงรับทราบความต้องการของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง
เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านั้น พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรทั่วพระราชอาณาจักรและเมื่อใดก็ตามที่ทรงมีโอกาสพระองค์ก็จะทรงเสนอแนะวิธีเอาชนะปัญหาต่างๆ จากการเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้เองที่นำไปสู่การจัดตั้งโครงการหลวงและโครงการในพระราชดำริกว่า 1,000 โครงการ หลังจากที่ได้รับทราบแนวพระราชดำริแล้วหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลก็จะรับไปดำเนินการเพื่อตอบสนองพระราชประสงค์สืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสมาชิกของเชื้อพระวงศ์พระองค์แรกที่ทรงได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์และสิ่งประดิษฐ์นั้นก็คือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” หรือ “The Chai Pattana Aerator Model RX2” แต่ในทะเบียนลิขสิทธิ์เรียกว่า “Apparatus for water treatment” (หรือเครื่องบำบัดน้ำเสีย) ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์เพื่อใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรมและสามารถจะพบเห็นเครื่องบำบัดน้ำเสียเช่นนี้ได้ตามแม่น้ำลำคลองที่กำลังเผชิญกับภาวะเน่าเสีย
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทยและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงแสดงให้เป็นประจักษ์อยู่เสมอมาว่าพระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างถ่องแท้ โดยทั่วไปเพื่อเป็นการปฏิบัติตามประเพณีชายหนุ่มชาวพุทธจะทำการอุปสมบทเป็นระยะเวลาหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 นอกจานี้รัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ระบุเพียงว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธเท่านั้นแต่ยังต้องทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภ์ของทุก ๆ ศาสนาอีกด้วย พร้อมทั้งยังทรงใส่พระทัยและให้การคุ้มครองแก่ทุกลัทธิความเชื่อ อีกทั้งยังทรงให้การปฏิบัติแก่ผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ ที่พักพิงภายใต้พระบรมโพธิสมภารอย่างเท่าเทียมกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จขึ้นสู่บัลลังก์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระนามของพระองค์มีความหมายว่า “กำลังแห่งแผ่นดิน, ไม่มีอำนาจใดเทียบเท่า” และนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็ได้ทรงปกครองราชอาณาจักรภายใต้รัฐธรรมนูญ และในพระราชพิธีราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระองค์ได้ให้คำสัตย์ปฏิญาณในการขึ้นครองราชย์ตามประเพณีว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรสยาม” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระองค์ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดแล้วดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้โดยทรงมุ่งไปยังการช่วยให้พสกนิกรกินดีอยู่ดีและมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป
เนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งถือเป็นวันชาติ พสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างพร้อมเพรียงกันแสดงความจงรักภักดีและแซ่ซ้องสรรเสริญพระบารมีของพระองค์อีกครั้งหนึ่ง และในโอกาสนี้ก็จะมีการทำบุญตักบาตร ประดับประดาบ้านเรือน ตึก อาคาร ด้วยธงชาติ และธงพระปรมาภิไธย ไฟประดับและพระบรมฉายาลักษณ์ ชาวไทยทั่วทั้งประเทศต่างสวดมนต์อ้อนวอนพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงดลบันดาลให้พระองค์มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ ทรงพระเกษมสำราญ และมีพละกำลังแข็งแรงเพื่อทรงช่วยเหลือพสกนิกรตราบนานเท่านาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น